โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease – HFMD*) เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็ก ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้ง่าย มักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ในบ้านเรามีรายงานระบุว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่จะพบได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จึงมักพบการระบาดได้ในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก สำหรับผู้ใหญ่ก็อาจพบว่าเป็นโรคนี้ได้บ้าง แต่จะเป็นการติดเชื้อโดยที่ไม่แสดงอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้อยู่

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease – HFMD*)

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปีในแถบร้อนชื้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่อาจพบได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย พ.ศ.2557 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคมือเท้าปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,317 ราย และมีรายงานการเสียชีวิตเพียง 2 ราย โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2556) มีแนวโน้มการเกิดโรคนี้สูงขึ้นทุกปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะมีจำนวนลดลง และเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคนี้อยู่แล้ว (ช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว) ส่วนสถิติในด้านอื่น ๆ ที่เป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่า

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 5 ปีมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี คิดเป็น 242.76, 18.70 และ 2.54 คน ต่อประชากร 1000,000 คนตามลำดับ
  • ในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะพบโรคนี้ได้มากที่สุดในเด็กอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 และ 3 ปี คิดเป็น 28.18%, 26.11% และ 17.39% ของผู้ป่วยตามลำดับ
  • เด็กชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กหญิง (ในอัตราส่วน 1 : 0.72)
  • จะพบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 26.61, 26.03, 16.58 และ 8.52 คน ต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ (มากกว่า 100 สายพันธุ์) ได้แก่ ค็อกแซคกีเอและบี (Coxsackie A, B), ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 (Enterovirus 71 – EV71), ไวรัสเอ็คโคไวรัส (Echovirus) สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือการระบาดจากการติดเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 (Coxsackievirus A 16) ซึ่งอาการมักจะไม่รุนแรง และผู้ป่วยมักจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อยและมีอาการรุนแรง คือ การติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ (นอกจากนี้ในบางครั้งยังอาจเกิดการระบาดได้จากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 5, 7, 9, 10 และเชื้อไวรัสค็อกแซคกีบีชนิด 2 และ 5 และอาจเกิดเชื้อไวรัสเอ็คโคไวรัสได้บ้าง)

การติดต่อ : โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ละอองน้ำมูกน้ำลาย หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางอ้อมจากการสัมผัสสิ่งของหรือของเล่น สัมผัสพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ดูดเลียนิ้วมือ รวมถึงจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดูที่ไม่สะอาด เป็นต้น โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก

ระยะฟักตัวของโรค : เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการ การเป็นซ้ำ : โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าเชื้อไวรัสที่ได้รับมาเป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง ๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม

การรักษา โรคมือเท้าปาก

เนื่องจากการรักษาโรคมือเท้าปากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะหรือมียาที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสนี้ได้ และยังไม่มีวัคซีนที่จะได้ผลในการป้องกันเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ ดังนั้นการรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาไปตามแต่อาการของผู้ป่วย ในกรณีที่ป่วยเพลียมากหรือมีอาการหนักมาก แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้ แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก รวมถึงการเฝ้าสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ แต่สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

  • ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้รักษาไปตามอาการด้วยวิธีดังต่อไปนี้
    • หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้
    • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ จนสังเกตเห็นว่ามีปัสสาวะออกมาและใส
    • ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเหลวหรือของน้ำ ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน ฯลฯ (สำหรับทารกให้ใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด) และให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็น ๆ กินไอศกรีม (ความเย็นจะช่วยทำให้ชา ไม่เจ็บแผล) หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นบ่อย ๆ (ใส่เกลือแกง 1/2 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผล (พ่อและแม่มักเป็นกังวลหรือกลัวว่าถ้าให้ลูกกินของเย็น ๆ แล้วไข้จะขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้ลูกจะไม่ได้กินของเย็น ไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเด็กเจ็บแผลในปากก็ลองให้ลูกกินอะไรเย็น ๆ ดูครับ เพราะปกติเขาจะกินอะไรไม่ค่อยได้และหิวกระหายอยู่แล้ว การที่เขากินอะไรได้บ้างก็จะช่วยทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็วยิ่งขึ้น)
  • แม้ว่าโรคนี้มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน หรือเต็มที่ก็ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่แนะนำว่าควรสังเกตภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ปอด และหัวใจอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน